มะเร็งกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 40 ปี พบมากในช่วงอายุ 60-80 ปี คนอายุน้อยกว่า 40 ปีก็พบได้แต่น้อย มะเร็งชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 2.2 ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า (สถิติปี 2563)
สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori/Helicobacter pylori) ของกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (chronic gastritis) และแผลกระเพาะอาหาร พบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะมีประวัติการติดเชื้อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไรมีเพียงส่วนน้อย (ประมาณร้อยละ 2) ที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เชื่อว่าการเกิดมะเร็งชนิดนี้มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ของเชื้อ ปัจจัยด้านปัจเจกบุคคลและสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยอื่น ๆ ได้แก่ การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด (วันละมากกว่า 3 ดื่มมาตรฐาน หรือมากกว่าปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 30 กรัม), การกินเนื้อสัตว์หมักเกลือ (เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม) เนื้อสัตว์รมควันหรือใส่ดินประสิว (เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง เป็นต้น), การกินเนื้อแดง (เนื้อวัว หมู) โดยการปิ้งย่าง, การกินของหมักดอง, การกินผักและผลไม้น้อย, ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มีประวัติมีพ่อแม่พี่น้องหรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น การมีติ่งเนื้อเมือก (stomach polyps) ที่กระเพาะอาหาร, การมีประวัติเป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (pernicious anemia) ซึ่งเกิดจากภาวะขาดวิตามินบี 12, การมีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน
อาการ
ระยะแรกเริ่มจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ต่อมาเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นก็จะมีอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย ท้องอืด แน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือสะดือคล้ายโรคกระเพาะ รู้สึกอิ่มเร็วหลังกินอาหารปริมาณเพียงเล็กน้อย
ในช่วงแรกกินยารักษาโรคกระเพาะอาการก็ทุเลาได้ แต่ต่อมาจะไม่ได้ผลและมีอาการอื่นตามมา เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย กลืนลำบาก เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือท้องเดิน คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ น้ำหนักลด ซีด ดีซ่าน (ตาเหลือง) เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน
เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้ทางเดินอาหารอุดกั้น (ปวดท้อง อาเจียน) มีเลือดออก (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ โลหิตจาง)
มะเร็งมักลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียง ในช่องท้อง (ทำให้ปวดท้อง ท้องมาน) ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง แอ่งเหนือไหปลาร้า และในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ) และอาจไปที่สมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก)
ข้อมูลโรค: มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer/Gastric cancer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions