ผู้เขียน หัวข้อ: อาการของโรคCholestasis (คอเลสเตซิส)  (อ่าน 31 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 241
    • ดูรายละเอียด
อาการของโรคCholestasis (คอเลสเตซิส)
« เมื่อ: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 12:18:23 น. »
อาการของโรคCholestasis (คอเลสเตซิส)

Cholestasis (คอเลสเตซิส) เป็นโรคที่เกิดจากทางเดินท่อน้ำดีตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดคั่งของน้ำดีจนอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น อาการคันอย่างรุนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง หรืออาเจียน โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรค ยาบางชนิด ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างการตั้งครรภ์

น้ำดีประกอบด้วยกรดน้ำดี คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นสารสีเหลืองที่มีส่วนช่วยในการย่อย โดยบางส่วนถูกขับออกไปกับอุจจาระและปัสสาวะ หน้าที่ของน้ำดีคือจะช่วยในการย่อยอาหารประเภทไขมัน โดยปกติตับจะผลิตน้ำดีขึ้นและเก็บไว้ภายในถุงน้ำดี และจะหลั่งน้ำดีเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเมื่อเริ่มกระบวนการย่อยอาหาร แต่หากท่อน้ำดีตีบหรืออุดตันก็อาจส่งให้การย่อยอาหารและการดูดซึมผิดปกติจนกระทบต่อร่างกาย

อาการของ Cholestasis

ภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตันมีทั้งชนิด Intrahepatic Cholestasis และชนิด Exyrahepatic Cholestasis ซึ่งมีอาการที่คล้ายกัน ดังนี้

    ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
    คันอย่างรุนแรง แต่ไม่มีผื่น
    ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา
    ปัสสาวะสีเหลืองเข้มจนกระทั่งสีน้ำตาลในบางราย
    อุจจาระสีซีด
    คลื่นไส้ อาเจียน
    ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร

ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการเด่น คือ อาการคันอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า บางรายอาจรู้สึกคันทั่วตัว แต่ไม่มีผื่น อาการคันนี้จะพบได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยมักรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืนและในช่วงใกล้คลอด อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่แสดงอาการของโรค อย่างผู้ที่ป่วยเรื้อรังด้วยโรคนี้ ถ้าหากผู้ป่วยพบสัญญาณของโรค ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะหญิงที่กำลังตั้งครรภ์

าเหตุของ Cholestasis

สาเหตุของโรคแบ่งได้ตามตำแหน่งที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ ดังนี้

ชนิด Intrahepatic Cholestasis

มีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในตับ อาจมาจากโรคและการติดเชื้อ เช่น

    โรคตับ
    โรคตับอาจทำให้เกิดความเสียหายภายในตับและเกิดการอุดตันของท่อน้ำดีได้ เช่น โรคตับแข็งทางเดินน้ำดี โรคตับจากแอลกอฮอล์ โรคฝีในตับจากเชื้อแบคทีเรีย โรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ (Primary Sclerosing Cholangitis) โรคไวรัสตับอักเสบ โรคซาร์คอยโดสิส (Sarcoidosis) โรคมะเร็งตับ และโรคมะเร็งตับอ่อน เป็นต้น

    โรคอื่น ๆ
    โรคบางอย่างอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อตับและทำให้เกิดโรคดังกล่าวขึ้น อย่างโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคแอมีลอยด์ (Amyloidosis) โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อเอชไอวี และโรควัณโรค

    การใช้ยา
    ยาบางชนิดอาจทำให้ตับเกิดความผิดปกติจนเกิดโรคดังกล่าวขึ้น เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อรา ยาต้านอาการทางจิต และยาต้านจุลชีพ ยากลุ่มอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic Steroid) เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องให้อาหารผ่านทางหลอดเลือดดำอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้เช่นกัน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคชนิดได้สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด ผู้ที่มีประวัติการเป็นโรคตับ และผู้ที่คนในครอบครัวเคยมีประวัติท่อน้ำดีตีบขณะตั้งครรภ์
ชนิด Exyrahepatic Cholestasis

เกิดจากความผิดปกติที่ไม่ได้มาจากตับ เช่น เนื้องอกในท่อน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอ่อนอักเสบ โรคถุงน้ำเทียมที่ตับอ่อน (Pseudocyst) เนื้องอกที่ตับอ่อน ท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ เนื้องอกบริเวณใกล้เคียงกดทับท่อน้ำดี เป็นต้น


การวินิจฉัย Cholestasis

ในขั้นแรกแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติจากภายนอก จากนั้นจะสอบถามอาการที่พบ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ หรือถามเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ในขั้นถัดไปอาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น

    การตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อ ระดับของบิลิรูบิน และเอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส (Alkaline Phosphatase) ที่มักเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดการอุดตันของท่อน้ำดี
    การตรวจอวัยวะภายในช่องท้องด้วยการสแกน อย่างซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอสแกน และอัลตราซาวด์
    การส่องกล้องทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography)
    การส่องกล้องเพื่อตัดเก็บและตรวจชิ้นเนื้อตับ (Biopsy)


การรักษา Cholestasis

การรักษาโรคจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาจากสาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำดีเกิดการตีบตัน ซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย หากมีสาเหตุมาจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือเนื้องอกในท่อน้ำดี แพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำก้อนนิ่วหรือเนื้องอกนั้นออก บางรายที่มีสาเหตุจากการใช้ยา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาตัวใหม่ทดแทนเพื่อลดการตีบของท่อน้ำดี

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ แพทย์จะเน้นไปที่การเฝ้าดูอาการเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทั้งในแม่และเด็ก อย่างการตรวจเลือด การตรวจสุขภาพทารก (Nonstress Testing) หรือการตรวจการเคลื่อนไหวทารกในครรภ์ (Fetal Biophysical Profile) แต่หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักหายได้เองหลังจากคลอดบุตร แต่เพื่อความปลอดภัย ควรเข้ารับการตรวจโรคดังกล่าวภายหลังจากคลอดบุตรแล้วอีกครั้ง

ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการคัน แพทย์อาจสั่งยาเพื่อลดความเข้มข้นของกรดน้ำดีภายในเลือดหรือยาทาแก้คันให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ การแช่ในน้ำอุ่นและการอาบน้ำเย็นก็อาจช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้


ภาวะแทรกซ้อนจาก Cholestasis

การคั่งของน้ำดีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ท้องเสีย ภาวะขาดสารอาหารเนื่องจากการดูดซึมผิดปกติ กระดูกเปราะเนื่องจากการดูดซึมผิดปกติเป็นเวลานาน และอวัยวะล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมทั้งอาการคันที่รุนแรงยังอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับได้ยาก

ในหญิงตั้งครรภ์อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมวิตามินบางชนิดที่ต้องการไขมันในการช่วยดูดซึม ซึ่งการขาดสารอาหารในช่วงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกได้ นอกจากนี้ โรคดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ทารกเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างคลอดก่อนกำหนด อาการสำลักขี้เทา (Meconium) ภาวะตายคลอด (Stillbirth) หรือการคลอดทารกที่เสียชีวิตในครรภ์


การป้องกัน Cholestasis

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคที่แน่ชัด แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อตับ ได้แก่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ งดการใช้สารเสพติด เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ และหากพบอาการของโรค เช่น อาการคันรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ อุจจาระสีซีด ปัสสาวะเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาล มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ฯลฯ ควรไปพบแพทย์พบแพทย์ทันที สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรหมั่นสังเกตอาการตนเองและเข้ารับการตรวจครรภ์อยู่เสมอเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้